เทียนห๊อม เทียนหอม (สมมารถ พิทักษ์กิ่งทอง เจ้าของร้าน Karmakamet)



เทียนห๊อม เทียนหอม (สมมารถ พิทักษ์กิ่งทอง เจ้าของร้าน Karmakamet)








สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเดินเล่นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ขณะเดินผ่านหน้าร้านๆ หนึ่งก็ได้กลิ่นหอมลอยมา เมื่อรู้สึกตัวอีกทีก็เผลอเข้ามายืนสูดกลิ่นหอมในร้านขายเทียนเสียแล้ว แถมยังรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่อากาศในวันนั้นร้อนสุดๆ เรียกได้ว่าหลงเสน่ห์ในกลิ่นหอมจนอยากรู้เคล็ดลับการเลือกซื้อเทียนขึ้นมา ทันทีเลยทีเดียว และก็ถือว่าเป็นโชคดีมากที่ คุณสมมารถ พิทักษ์กิ่งทอง เจ้าของร้าน Karmakamet อยู่พอดี เราจึงได้ความรู้และเคล็ดลับในการซื้อ “เทียนหอม” มาฝากทุกคน


รู้สักนิดก่อนซื้อ


เทียนหอม ทำมาจากพาราฟินและไขผึ้ง นำส่วนผสมทั้งสองมาหลอมรวมกัน เติมสี และน้ำมันหอมระเหยลงไป เสร็จแล้วนำไปพิมพ์ ปั้น หรือหล่อให้มีรูปทรงตามต้องการ นอกจากนี้ผู้ผลิตยังนิยมบรรจุเทียนหอมลงในภาชนะสวยๆ ใช้เป็นของแต่งบ้านได้ด้วย เราสามารถแบ่งเทียนที่พบเห็นทั่วไปออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.เทียนที่มีลักษณะเปลือย (Pillar Candle) หรือเทียนแฟนซีต่างๆ ให้กลิ่นไม่ชัดเจน เนื่องจากใส่กลิ่นแค่ 0.5-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนใหญ่เน้นสำหรับนำไปประดับตกแต่งสร้างบรรยากาศให้มุมต่างๆ ดูสวยงามขึ้น

2. เทียนที่บรรจุอยู่ในขวดแก้ว กระปุก หรือกระป๋อง ให้กลิ่นหอมมากและอบอวลไปทั้งห้อง นิยมใส่กลิ่น 3-15 เปอร์เซ็นต์ (ขึ้นอยู่กับราคาและคุณภาพของเทียน)

Tips : ขี้ผึ้งและไส้เทียน (Wax and wicks) ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เทียนน้ำมันถั่วเหลือง เทียนน้ำมันปาล์ม และเทียนขี้ผึ้ง มีขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเทียนที่ผลิตจากพาราฟิน ที่สำคัญคือปลอดสารพิษ เป็นมิตรกับธรรมชาติ ปลอดภัยต่อร่างกายและสุขภาพของผู้ใช้  เช่นเดียวกันไส้เทียนที่มีคุณภาพ เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ จึงทำให้เทียนหลอมละลายเท่ากันรอบด้านจนถึงฐานเทียน



เคล็ดไม่ลับในการเลือกซื้อเทียนหอม


1. พิจารณาจากราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพและความหอม จุดต่างของเทียนหอมแต่ละแบบอยู่ที่คุณภาพและการให้ความหอมที่ยาวนาน แต่ทั้งนี้เทียนที่มีคุณภาพดีและให้ความหอมยาวนาน ก็มักมาพร้อมกับราคาที่แพงตามไปด้วย

2. ควรเลือกซื้อจากร้านเครื่องหอมที่มีความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญควรมีบรรจุภัณฑ์ที่ดี เพื่อเก็บรักษาคุณภาพของเทียนให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น

3. เลือกจากพื้นที่ใช้งานและประโยชน์ใช้สอย เช่น หากต้องการใช้ในห้องน้ำเพื่อดับกลิ่นอับ แนะนำให้เลือกเทียนที่ให้กลิ่นหอมสะอาดสดชื่น เช่น กลิ่น White Grapefruit ถ้าต้องการใช้ในห้องนอนเพื่อสร้างบรรยากาศโรแมนติก ควรใช้กลิ่นที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น เย้ายวน อย่างกลิ่นดอก Lilac และหากต้องการใช้ในที่ทำงานเพื่อสร้างความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง กลิ่นที่น่าสนใจ คือ กลิ่นที่ให้ความสดชื่น เย็นสบาย อย่าง Rosemary หรือ Peppermint

4. เลือกจากความหอมเข้มและความแรงของกลิ่น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

4.1 กลิ่นระดับบน คือ กลิ่นที่ค่อนข้างฉุนแรง ได้แก่ กลิ่นประเภทผลไม้ สมุนไพร เช่น กลิ่น Lemon และ Lemongrass

4.2 กลิ่นระดับกลาง คือ กลิ่นนุ่มนวล หวานหอม ได้แก่ กลิ่นดอกไม้ และผลไม้บางชนิด เช่น กลิ่น Pomegranate และ Honey Suckle

4.3 กลิ่นระดับล่าง คือ กลิ่นอบอุ่น หอมเอื่อย ได้แก่ กลิ่นสมุนไพร และไม้หอม เช่น กลิ่น Cedarwood และ Tobacco

5. เลือกกลิ่นตามโอกาสพิเศษหรือใช้เป็นของขวัญ แนะนำกลิ่นดอกไม้หรือผลไม้ เช่น กลิ่นดอก Frangipani, Orange Blossom และ lavender

Tips : เลือกซื้อเทียนหอมโดยดูจากภาพรวมของราคา สี กลิ่น และเนื้อเทียน เนื้อเทียนที่ดีต้องมีสีสันสดใส ไม่มีฟองอากาศอยู่ข้างใน เนื้อเทียนเป็นมันเงา มีกลิ่นหอม จุดแล้วไม่มีควัน และมีน้ำตาเทียนน้อย (บางยี่ห้ออาจแทบไม่มีเลย) เวลาเผาไหม้จะเผาไหม้อย่างช้าๆ สามารถจุดได้นาน มีกระแสคลื่นความเย็น (Cold Throw) ให้กลิ่นหอมชวนผ่อนคลาย
กลิ่นหอมยอดนิยม

Citrus :  กลิ่นหอมสดชื่น ประเภทพืชตระกูลส้มและมะนาว แนะนำให้ลองใช้กลิ่น Lemon Blossom และ Pomelo
Fruity :  กลิ่นหอมเปรี้ยวอมหวาน สะอาด สดชื่น จากผลไม้ประเภท พีช หรือเกรปฟรุต แนะนำใช้กลิ่น Cranberry, Autumn และ Red Peach
Floral :  กลิ่นหอมหวาน นุ่มนวลของดอกไม้ เช่น กลิ่น Moroccan Otto of Rose, Mimosa
Herb & Spicy  :  กลิ่นหอมของเครื่องเทศ และสมุนไพร อย่าง ตระไคร้ และขิงที่ให้กลิ่นหอมชัดเจน  โดดเด่น เผ็ดร้อน ขอแนะนำกลิ่น Tomato and  Holy Basil หรือ Dill
Woody   :  กลิ่นหอมนุ่ม อบอุ่นลึกซึ้ง ให้อารมณ์แบบธรรมชาติ แนะนำกลิ่น East Indian Sandalwood
Et Cetera : กลิ่นต่างๆ ที่นำมาผสมใหม่ ให้เกิดเป็นกลิ่นหอมพิเศษ มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร เช่น กลิ่น   Siamese Jasmine Rice, White Musk และ Tobacco
Tips  : เราสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์กลิ่นเทียนหอม หรือจับคู่กลิ่นที่เราชื่นชอบได้แบบไม่รู้จบ มีหลักง่ายๆ ในการผสมดังนี้

- หากต้องการกลิ่นหอมสดชื่น สะอาด กระปรี้กระเปร่า ควรเลือกเทียนกลิ่นผลไม้และสมุนไพรจุดผสมกัน เช่น กลิ่น Lemon Blossom ผสมกับ Rosemary
- หากต้องการกลิ่นหอมโรแมนติก เย้ายวน ชวนฝัน ควรเลือกจุดเทียนที่มีกลิ่นหอมจากเหล่าดอกไม้ แก่นไม้ หรือเครื่องเทศ เช่น ผสมกลิ่น Frangipani Mimosa และ Vanilla เข้าด้วยกัน
- หากต้องการกลิ่นที่อบอุ่น ผ่อนคลาย สงบ ควรเลือกผสมกลิ่นสมุนไพร เครื่องเทศ และแก่นไม้ เช่น จุดเทียนกลิ่น Cedarwood ผสมกับ Ginger หรือ Rosewood



ข้อแนะนำในการจุดเทียนหอม


1. หากจุดเทียนหอมแบบก้อน ควรวางเทียนในภาชนะแก้วใส มีพื้นที่พอเพียงสำหรับเปลวเทียนและน้ำตาเทียน

2. ควรจุดในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หากจุดในพื้นที่ปิด เช่น ในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ ควรจุดเทียนหอมในปริมาณน้อยๆ ใช้เวลาสร้างความหอมประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็พอ เมื่อได้กลิ่นหอมเพียงพอแล้วจึงค่อยดับเทียนลง (ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้)

3. ไม่ควรวางเทียนไว้ใต้เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากเครื่องปรับอากาศโดยทั่วไปมักมีเครื่องฟอกอากาศ ฟอกกลิ่นหอมให้หายไปหมด ทำให้เรารื่นรมย์กับกลิ่นหอมได้ไม่เต็มที่

4. หากเปลวเทียนไม่สวยหรือมีควัน อาจมีสาเหตุมาจากไส้เทียนยาวเกินไป จึงควรเล็มไส้เทียนให้มีความยาวไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดควัน เละควรหมั่นจัดไส้เทียนให้อยู่กลางภาชนะทุกครั้ง เพื่อให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์

5. ควรวางเทียนไว้ต้นลมให้กลิ่นหอมพัดไปหาผู้ใช้ได้เต็มที่

6. ควรใช้ฝาแก้วในการดับเทียน เพื่อไม่ให้เกิดควันรบกวนบรรยากาศในห้อง

7. ปริมาณเทียนหอมที่เหมาะสมกับพื้นที่ขึ้นอยู่กับชนิดของเทียน ในที่นี้ขอกล่าวถึงเทียนที่บรรจุอยู่ในแก้วเทียน 1 ใบ สามารถใช้ในห้องขนาดไม่เกิน 20-25 ตารางเมตร ดูแลดีมีใช้ไปอีกนาน เมื่อใช้เสร็จแล้วควรปิดฝาให้สนิทเสมอเพื่อป้องกันกลิ่นระเหย ควรเก็บให้พ้นจากแสงแดด ความร้อน เด็กๆ และสัตว์เลี้ยง เทียนหอมมีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปี หลังจากเปิดใช้ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 ปี ส่วนความถี่ในการจุดเทียนหอม ใน 1 วัน ควรจุดเทียนหอมประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็เพียงพอแล้ว ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป ควรปล่อยให้ร่างกายได้มีโอกาสปรับสู่สมดุลและพักผ่อนให้จมูกได้มีโอกาสสูดดม กลิ่นสะอาดๆ จากธรรมชาติบ้าง เมื่อทราบเคล็ดลับดีๆ ในการเลือกซื้อเทียนหอมแล้ว ก็เตรียมตัวเปิดประตูบ้านต้อนรับกลิ่นหอมๆ กันได้เลย

คอลัมน์ :   Smart Buy ฉบับเดือนเมษายน 2556
ข้อมูล    :   นิตยสาร room

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น